วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

บทที่ 8 นวัตกรรมการศึกษา

บทที่ 8
นวัตกรรมการศึกษา

นวัตกรรมที่นำมาใช้ทางการศึกษาในปัจจุบันมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีแปลกใหม่แตกต่างไปจากการนั่งฟังบรรยายหรือทำกิจกรรมตามที่ครูผู้สอนกำหนดให้ นวัตกรรมการศึกษาจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเลือกวิธีเรียนด้วยตนเอง เมื่อจบบทเรียนแต่ละตอนก็จะสามารถประเมินผลการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น บทเรียนโปรแกรม ชุดการสอน ศูนย์การเรียน การสอนแบบจุลภาค การสอนเป็นคณะ และการสอนทางไกล ซึ่ง แต่ละชนิดมีรายละเอียดดังนี้

บทเรียนโปรแกรม

คำว่า “บทเรียนโปรแกรม” ที่ใช้อยู่ในวงการศึกษาขณะนี้มีความหมายในทำนองเดียวกับคำในภาษาต่างประเทศหลายคำด้วยกัน เช่น Programmed Instruction, Auto – Instruction, Automated Instruction Programming, Self – Teaching และ Self – Instructional Program. (สุนันท์ ปัทมาคม, 2524, หน้า 2)
เปรื่อง กุมุท กล่าวไว้ในหนังสือเทคนิคการเขียนบทเรียนโปรแกรม ( 2519, หน้า 134 ) ว่า “บทเรียนโปรแกรม” หมายถึง การลำดับประสบการณ์ที่จัดวางไว้สำหรับนำผู้เรียนไปสู่ความ สามารถโดยอาศัยหลักความสัมพันธ์ของสิ่งเร้ากับการตอบสนองซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพและได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
“ประสบการณ์” เน้นถึงการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในขบวนการเรียนให้มากที่สุด
“ลำดับ…ที่จัดวางไว้” แสดงถึง การจัดลำดับต่อเนื่องของเนื้อหา อย่างมีหลักเกณฑ์
“นำไปสู่ความสามารถ” คือสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรมที่ระบุว่าจะทำอะไรได้ บ้างทำได้ดีเพียงใด
“หลักความสัมพันธ์ของสิ่งเร้ากับการตอบสนอง” แสดงว่าบทเรียนเขียนขึ้นโดยคำนึงถึง ความสัมพันธ์ของสิ่งเร้ากับการตอบสนอง
“ประสิทธิภาพ” คือได้ผ่านการทดลองและปรับปรุงแก้ไข จะมีคุณภาพถึงเกณฑ์มาตรฐานที่ผู้เรียนเรียนแล้วสามารถแสดงออกมาให้เราทราบได้ว่าเขาบรรลุความสามารถที่ต้องการ
บทเรียนโปรแกรมที่ดีจะต้องเรียบเรียงข้อคำถามให้เกี่ยวข้องกับคำอธิบายที่ให้ไว้ก่อนและคำถามข้อต่อไปก็ต้องมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับคำถามก่อนหน้าเสมอ ทั้งต้องพยายามย้ำความเข้าใจความแม่นยำของผู้เรียนตลอดเวลาโดยใช้วิธีการต่าง ๆ หลาย ๆ วิธี เพื่ออธิบายให้เข้าใจเรื่องราวแต่ละตอนอย่างแจ่มชัด

1. พื้นฐานทางจิตวิทยาของบทเรียนโปรแกรม

ทฤษฎีการเรียนรู้ที่เป็นพื้นฐานของการสร้างบทเรียนโปรแกรมเป็นทฤษฎีแนวพฤติกรรมนิยมที่สำคัญคือทฤษฎีการวางเงื่อนไข (S – R Theory) ของธอร์นไดค์ (Thorndike) โดยใช้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองและการเสริมแรง (reinforcement) ของสกินเนอร์ (Skinner) ทฤษฎีเหล่านี้เชื่อว่าพฤติกรรมเกิดจากการวางเงื่อนไขการแสดงออกมาอาจเป็นได้ทั้งพฤติกรรมทางสมอง (cognitive) กล้ามเนื้อ (psychomotor) และความรู้สึก (effective) ทฤษฎี การเรียนรู้นี้จึงเป็นพื้นฐานหรือที่มาของการสร้างสื่อการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ เช่น บทเรียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน บทเรียนทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น การสร้างหรือการใช้สื่อการเรียนรู้แบบบทเรียนโปรแกรม ครูจำเป็นต้องจัดให้นักเรียนได้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่กำหนด ให้โดยมีกระบวนการดังนี้
1. เสนอสิ่งเร้าแก่ผู้เรียน เช่น เนื้อหาบทเรียน กิจกรรมต่าง ๆ
2. หาวิธีช่วยให้ผู้เรียนสนองได้อย่างเหมาะสม เช่น การบอกใบ้
3. เมื่อผู้เรียนตอบสนองได้แล้วต้องเสริมแรงข้อสนองตอบนั้นในทันที
การเสริมแรงเป็นการทำให้การสนองตอบของผู้เรียนมีความหมายและเป็นไปตามที่ ผู้สอนปรารถนาทุกครั้งที่เขาพบสิ่งเร้าที่กำหนดให้ การเสริมแรงจึงเป็นเสมือนรางวัลสำหรับผู้เรียนทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจในการเรียนรู้ต่อไป

2. ลักษณะของบทเรียนโปรแกรม

บทเรียนโปรแกรมมีลักษณะสำคัญดังนี้คือ (วาสนา ชาวหา, 2525, หน้า 131)
1. การแบ่งขั้นการเรียนรู้เป็นหน่วยย่อย ๆ และเรียงลำดับจากง่ายไปสู่ยาก (gradual approximation) จัดความรู้หรือเนื้อหาวิชาให้ผู้เรียนได้เรียนไปทีละขั้นทีละตอน และแต่ละขั้นย่อย ๆ นั้นได้มีการลำดับจากสิ่งที่ง่ายไปหาสิ่งที่ยากขึ้นทีละน้อยอย่างต่อเนื่องกัน ไม่สับสน และไม่เป็นการยัดเยียดความรู้ให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ง่าย
2. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนอย่างกระฉับกระเฉง (active participation) โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการกระทำด้วยตนเอง อาจจะจัดในรูปการซักถามเพื่อให้ผู้เรียนได้ตอบคำถามการทดสอบ การอภิปราย หรือวิธีการใดก็ตามที่อาศัยหลักการทางจิตวิทยา ในเรื่องการสอนสิ่งเร้าเพื่อให้ผู้เรียนมีการตอบสนอง (S-R theory) การเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมและเป็นไปอย่างทั่วถึงทุกคนมิใช่ว่าตอบสนองเพียงบางคน การเรียนการสอนในลักษณะนี้ก็ทำให้ผู้เรียนอยากจะเรียนรู้ไม่เบื่อหน่ายต่อบทเรียน
3. ให้ผู้เรียนได้ทราบผลการเรียนของตนอย่างทันทีทันใด (immediate feed back) ภายหลังที่นักเรียนได้ตอบสนองสิ่งเร้าแล้ว ควรแจ้งหรือเฉลยคำตอบที่ถูกต้องให้ผู้เรียนได้ทราบผลทันทีทันใด ไม่ล่าช้า ยกตัวอย่างเช่น การตรวจแบบฝึกหัดนักเรียน ครูควรจะได้รีบตรวจและส่งคืนไปให้นักเรียนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ นักเรียนจะได้ทราบผลการทำแบบฝึกหัดของตนเพื่อประโยชน์ในการแก้ความเข้าใจผิดได้ทันท่วงทีและทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นไปอย่างต่อเนื่องกันไม่ขาดตอน การแจ้งเกรดหรือบอกคะแนน การเฉลยข้อสอบ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จัดว่าเป็นการแจ้งผลให้ผู้เรียนได้ทราบ ซึ่งเน้นในเรื่องความฉับพลัน มิฉะนั้นแล้วผู้เรียนจะเกิดความเบื่อหน่ายและทำให้การเรียนรู้ไม่ต่อเนื่องกัน
4. ให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนเป็นระยะ ๆ (successful experience) เนื่องจากการแบ่งขั้นการเรียนออกเป็นหน่วยย่อย ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้และยังแจ้งผลการตอบสนองของผู้เรียนอย่างฉับพลัน ทำให้ผู้เรียนได้รับความพอใจในความสำเร็จของตนเสมือนเป็น การให้รางวัล ซึ่งจัดว่าเป็นการเสริมแรงอย่างหนึ่ง (reinforcement) ทำให้ผู้เรียนอยากจะเรียนรู้ ต่อไป

3. ประเภทของบทเรียนโปรแกรม

บทเรียนโปรแกรมแบ่งตามลักษณะและวิธีการเขียนเป็น 2 ประเภท คือ บทเรียนโปรแกรมแบบเส้นตรง (linear prograned) กับบทเรียนโปรแกรมแบบสาขา (branching programmed)

3.1 บทเรียนโปรแกรมแบบเส้นตรง เป็นบทเรียนตามแบบของสกินเนอร์ บทเรียนประเภทนี้บังคับไปในตัว ให้ผู้เรียนทุกคนเรียนผ่านกรอบของบทเรียนทุก กรอบตั้งแต่กรอบที่หนึ่งไปจนถึงกรอบสุดท้ายตามลำดับ ดังแผนภูมิที่ 8.1 และตารางที่ 8.1
1. ตัวโน้ต เป็นเครื่องหมายชนิดหนึ่งใช้สำหรับบอกเสียงดนตรี
ดังนั้นเมื่อเราต้องการบอกเสียงดนตรี เราจะต้องบันทึกเป็น……
ตัวโน้ต 2. นักแต่งเพลงจะต้องบันทึกบทเพลงของเขาให้เป็นตัวโน้ต เพื่อบอก
เสียงดนตรี ดังนั้นเมื่อนักเรียนต้องการบอกเสียงดนตรี นักเรียนจะต้อง
บันทึกเป็น ……
ตัวโน้ต
3.

เส้นตรง 5 เส้น ที่นักเรียนเห็นอยู่นี้ เรียกว่า บรรทัด 5 เส้น
บรรทัด 5 เส้น ใช้สำหรับบันทึกตัวโน้ต เพื่อบอกระดับเสียงสูง-ต่ำของตัวโน้ต
สิ่งที่ใช้บันทึกตัวโน้ต เพื่อบอกระดับเสียงสูงต่ำคือ ……
บรรทัด 5 เส้น
4.

การบันทึกตัวโน้ตไม่เพียงแต่บันทึกบนบรรทัด 5 เส้นเท่านั้น แต่ยังบันทึกใน
ช่องทั้ง 4 ช่องซึ่งอยู่ระหว่างบรรทัด 5 เส้นด้วย
3.2 บทเรียนโปรแกรมแบบสาขา เป็นบทเรียนโปรแกรมอีกลักษณะหนึ่งที่สร้างขึ้นครั้งแรกโดยคราวเดอร์ (Norman A. Crowder) บทเรียนแบบนี้ต่างจากแบบแรกตรงที่ผู้เรียนแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเรียนผ่านทุกกรอบ กรอบของบทเรียนแบบสาขามี 2 ประเภทคือ “กรอบยืน” กับ “กรอบสาขา”
กรอบยืน หรือกรอบหลัก เป็นกรอบที่ทุกคนต้องเรียนผ่าน ในกรอบนี้จะมี ความรู้และเนื้อหาสำคัญอยู่แล้ว ส่วนคำถามแบบเลือกตอบจะมีไว้ในตอนท้ายให้ผู้เรียนเลือก ถ้าผู้เรียนเลือกถูกก็จะได้ไปเรียนในกรอบยืนกรอบต่อไป แต่ถ้าเลือกผิดก็จะได้ไปเรียนที่กรอบสาขา ซึ่งเป็นกรอบสำหรับเสริมและแก้ไขความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้อง บางครั้งก็ให้การฝึกฝนเพิ่มเติมด้วยในกรอบสาขาจึงไม่มีเนื้อหาและความรู้ใหม่ ๆ แต่อย่างใด
บทเรียนโปรแกรมแบบสาขาเป็นบทเรียนที่เหมาะสมกับการใช้สอนในเนื้อหา ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา การวิเคราะห์ และเรื่องที่มีคำตอบให้เลือกหลาย ๆ ทาง
ตัวอย่างบทเรียนโปรแกรมแบบสาขา

เรื่องสมบัติความเป็นกรดของสารละลาย

1. สิ่งปลูกสร้างด้วยปูนซีเมนต์หรือหินอ่อน เมื่ออายุนานขึ้นพบว่า ผิวของ
สิ่งก่อสร้างผุกร่อน เพราะเหตุใด

ก. ลมแรงที่พัดมาปะทะทำให้ส่วนผสมของปูนซีเมนต์และหินอ่อนเกิดการแตกแยก ผุกร่อน
ข. ในฤดูร้อนแสงแสดจัดทำให้สารที่เคลือบปูนซีเมนต์และหินอ่อนหลุดร่อน
ค. น้ำฝนเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการผุกร่อน

ถ้าตอบข้อ ก. ให้พลิกไปกรอบที่ 2
ถ้าตอบข้อ ข. ให้พลิกไปกรอบที่ 3
ถ้าตอบข้อ ค. ให้พลิกไปกรอบที่ 4

2. ท่านตอบว่าลมแรงที่พัดมาปะทะทำให้ผิวของสิ่งก่อสร้างผุกร่อน ที่จริงถ้าเป็น
เพราะแรงลมจะทำลายโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างมากกว่าผิวของสิ่งก่อสร้าง
ขอให้กลับไปอ่านกรอบที่ 1 อีกครั้งแล้วพิจารณาเลือกคำตอบใหม่

3. ท่านตอบว่าแสงแดดทำให้ผิวของสิ่งก่อสร้างผุกร่อน ซึ่งอาจมีส่วนอยู่บ้างในกรณี
ที่ทำลายสีและสารเคลือบพื้นผิวสิ่งก่อสร้าง แต่ไม่ได้ทำให้สิ่งก่อสร้างผุกร่อน
โปรดกลับไปพิจารณาเลือกคำตอบในกรอบที่ 1 ใหม่อีกครั้ง เชื่อว่าท่านควรจะตอบได้แน่นอน



4. สิ่งปลูกสร้างด้วยปูนซีเมนต์หรือหินอ่อน เมื่ออายุนานขึ้นพบว่าผิวของสิ่งก่อสร้าง
ผุกร่อน ทั้งนี้เนื่องจากกรดที่เกิดขึ้นจากก๊าซที่ละลายอยู่ในน้ำฝน เช่น
ก๊าซคาร์บอน ไดอ๊อกไซด์ได้กรดคาร์บอนิก ก๊าซซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ได้กรด
ซัลฟิวริก ซึ่งกรดเหล่านั้นมีสภาพเป็นกรดอ่อน เมื่อตกกระทบผิววัตถุของ
สิ่งก่อสร้างที่มีหินปูนหรือหินอ่อนจะเกิดปฏิกิริยาทำให้หินสึกกร่อนไปได้

4. ข้อดีและข้อจำกัดของบทเรียนโปรแกรม

4.1 ข้อดี บทเรียนโปรแกรมมีข้อดีดังนี้
4.1.1 นักเรียนมีโอกาสเรียนด้วยตนเองคล้ายกับการเรียนที่มีครูสอนตัวต่อตัว
4.1.2 ถ้านักเรียนตอบผิดก็สามารถแก้ไขความเข้าใจผิดได้ทันที ถ้าตอบถูกก็มี การเสริมแรงให้เกิดกำลังใจ
4.1.3 สนองความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ดี
4.1.4 แก้ปัญหาการขาดแคลนครู และใช้สอนซ่อมเสริมได้ดี
4.1.5 ผู้เรียนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี คือได้ร่วมทำกิจกรรมได้รับคำตอบทันท่วงที มีโอกาสเกิดความภาคภูมิใจและเรียนไปทีละน้อยตามลำดับขั้น

4.2 ข้อจำกัด บทเรียนโปรแกรมมีข้อจำกัดดังนี้
4.2.1 ไม่เหมาะสำหรับการสอนเนื้อหาวิชาที่ต้องการการตอบสนองในแง่ของ ความคิด เช่นการเรียงความ หรือเนื้อหาที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์
เด็กเก่งอาจเรียนได้เร็ว และมีเวลาว่างมากจนอาจทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายได้
4.2.3 ไม่ค่อยส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพราะองค์ความรู้และรูปแบบ การเรียนรู้เป็นไปตามที่ครูกำหนดเท่านั้น
4.2.4 ผู้เรียนขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเพราะรับผิดชอบเฉพาะงานของตน
4.2.5 ไม่อาจใช้แทนครูได้อย่างสิ้นเชิง

ชุดการสอน

ชุดการสอน หรือชุดการเรียนการสอน (instructional package) หมายถึง การวางแผนการเรียนการสอนโดยใช้สื่อต่าง ๆ ร่วมกัน (multi media approach) หรือ หมายถึง การใช้สื่อประสม (multi-media) เพื่อสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้อย่างกว้างขวางและเป็นไปตามจุด มุ่งหมายที่ว่างไว้โดยจัดไว้เป็นชุดในลักษณะซองหรือกล่อง (วาสนา ชาวหา, 2525, หน้า 138) หรือกล่าวได้ว่าชุดการสอน คือชุดของสื่อหลาย ๆ ชนิดหรือที่เรียกว่าสื่อประสมที่จัดไว้เป็นกล่องหรือซองตามลักษณะของเนื้อหาวิชา เพื่อรวบรวมเอาสาระและประสบการณ์ต่าง ๆ สำหรับช่วยให้ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1. ทฤษฎีที่ก่อให้เกิดชุดการสอน

จากการเปลี่ยนแปลงแนวคิดทางการศึกษาหลาย ๆ ด้าน เช่น แนวคิดเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล ความพร้อม การขยายตัวของวิชาการ อัตราการเพิ่มของประชากร และความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา ทำให้วิธีการในการจัดการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
สื่อการสอนต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทในการให้การศึกษามากยิ่งขึ้น ชุดการสอน จัดเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อสนองแนวคิดทางการศึกษาดังกล่าวให้บรรลุผล ทฤษฎี ที่ก่อให้เกิดชุดการสอนมีหลายทฤษฎีที่สำคัญคือ
1.1 การใช้สื่อประสม แนวโน้มใหม่ของการผลิตสื่อการสอน คือการจัดระบบการผลิตสื่อการสอนหลายอย่างมาผสมผสานกันอย่างเหมาะสมเพื่อใช้สอนในเนื้อหาบทเรียนเดียวกัน เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้และประสบการณ์หลาย ๆ ด้านแก่ผู้เรียน
1.2 การใช้กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ การเรียนการสอนในปัจจุบันผู้เรียนมีโอกาสประกอบกิจกรรมและศึกษาด้วยตนเองมากขึ้น กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์วิธีหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมเป็นกลุ่มควบคู่ไปด้วย
1.3 การใช้หลักจิตวิทยาการเรียนรู้มาจัดสภาพในการเรียนรู้มีลักษณะสำคัญ 4 ประการ คือ ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมด้วยตนเอง มีโอกาสทราบว่าคำตอบของตนเองถูกต้องหรือไม่ มี การเสริมแรงให้เกิดความภูมิใจและ อยากทำซ้ำอีก ค่อยเรียนรู้ไปทีละน้อยตามลำดับขั้น

2. ประเภทของชุดการสอน

ชุดการสอนที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันมี 3 ประเภทคือ ชุดการสอนประกอบคำบรรยาย ชุดการสอนแบบกลุ่มเล็กหรือชุดการสอนแบบศูนย์การเรียนและชุดการสอนรายบุคคล
2.1 ชุดการสอนประกอบคำบรรยาย เป็นชุดการสอนสำหรับให้ครูใช้ประกอบ การบรรยายเพื่อสอนนักเรียนเป็นกลุ่มใหญ่ ประกอบด้วยคู่มือครูสื่อการเรียนต่าง ๆ เช่น สไลด์ ฟิล์มสตริพ รูปภาพภาพยนตร์ แผนภูมิ แผนที่ แบบฝึกหัดเสริมทักษะ แบบทดสอบก่อนและหลัง บางทีก็เรียกว่าชุดการสอนสำหรับครู
2.2 ชุดการสอนแบบกลุ่มเล็กหรือชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน ใช้ประกอบ กิจกรรมของผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เช่น ในศูนย์การเรียน ชุดการสอนแบบนี้จะมีคู่มือครู แบบฝึกปฏิบัติและสื่อต่าง ๆ ไว้ให้สมาชิกในกลุ่มได้ประกอบกิจกรรมตามบัตรคำสั่ง รวมทั้งแบบทดสอบสำหรับการประเมินผล
2.3 ชุดการสอนรายบุคคล ใช้สำหรับให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเองตามความสะดวกและความสนใจของตนเอง โดยไม่ต้องเสียเวลารอคอยผู้อื่น เมื่อศึกษาจบแล้วสามารถทดสอบและประเมินผลได้ด้วยตนเองและศึกษาชุดอื่นต่อไป สื่อในชุดการสอนแบบนี้คล้ายกับชุดการสอนสำหรับชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน แต่เป็นชุดสำหรับผู้เรียนเป็นผู้ใช้ บางครั้งจึงเรียกว่าชุด การเรียน (learning package)



3. องค์ประกอบของชุดการสอน

องค์ประกอบของชุดการสอนมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามประเภทของชุดการสอน จากการประมวลองค์ประกอบของชุดการสอนของฮุสตันและคณะกับโฮเวล (Houston and Others, 1972 : 10-15, Howell, 1973 : 127 อ้างถึงในวาสนา ชาวหา, 2525, หน้า 140) พอสรุปองค์ประกอบของชุดการสอนได้ดังนี้
3.1 คำชี้แจง อธิบายถึงความสำคัญของจุดมุ่งหมาย ขอบข่ายของชุด การเรียน การสอน สิ่งที่ผู้เรียนจะต้องมีความรู้ก่อนเรียนและขอบข่ายของขบวนการทั้งหมดในชุดการเรียนการสอน
3.2 จุดมุ่งหมาย ของหลักสูตรและวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม มีลักษณะข้อความที่แจ่มชัดไม่กำกวมที่กำหนดว่าผู้เรียนจะประสบความสำเร็จอะไรหลังจากเรียนแล้ว
3.3 การประเมินผลเบื้องต้น มีวัตถุประสงค์สองประการ คือ เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนในระดับใดในการเรียนจากชุดการเรียนการสอนนั้น และเพื่อดูว่าเขาสัมฤทธิผลตามความมุ่งหมายเพียงใดการประเมินผลเบื้องต้นนี้อาจอยู่ในรูปของการทดสอบแบบข้อเขียน ปากเปล่า การทำงาน ปฏิกิริยา ตอบสนองหรือคำถามง่าย ๆ เพื่อให้รู้ถึงความต้องการและความสนใจ
3.4 รายการเนื้อหาวิชาและสิ่งที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น กิจกรรมหรือวิธีการที่จะทำให้ ผู้เรียนบรรลุถึงพฤติกรรมขั้นสุดท้าย
3.5 การกำหนดกิจกรรม คือการกำหนดแนวทางและวิธีเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ โดยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นด้วย
3.6 การประเมินผลขั้นสุดท้าย เป็นข้อทดสอบเพื่อวัดผลหลังจากการเรียนแล้ว เพื่อวัดผลความก้าวหน้าของผู้เรียนว่าได้บรรลุจุดประสงค์ที่ตั้งไว้เพียงใด

4. ประโยชน์ของชุดการสอน

ชุดการสอนมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนดังนี้
4.1 เร้าความสนใจของผู้เรียน เพราะผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียน
4.2 เรียนได้ตามความสามารถและความพอใจของผู้เรียน
4.3 การเรียนรู้เป็นอิสระจากอารมณ์ของครู
4.4 ขจัดปัญหาในการขาดแคลนครู
4.5 สนับสนุนการศึกษานอกระบบโรงเรียน
4.6 แก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างบุคคล
4.7 เป็นสื่อหลักในศูนย์การเรียน
4.8 ผู้เรียนสามารถรับทราบผลความก้าวหน้าของตนเอง
4.9 ให้ความสะดวกและสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้แก่ครู

ศูนย์การเรียน

ศูนย์การเรียน (learning center) คือการจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนโดยมุ่งให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองจากโปรแกรมการเรียนซึ่งจัดไว้ในรูปชุด การเรียนการสอน เป็นรายบุคคลหรือกลุ่ม ภายใต้การดูแลของครูซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานคอยแนะนำช่วยเหลือและควบคุมโปรแกรมการเรียนให้บรรลุจุดมุ่งหมาย (วีระ ตันตระกูล, 2528, หน้า 352)
ศูนย์การเรียน เป็นสถานที่ที่จัดบรรยากาศและประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยอาศัยโปรแกรมการสอนและสื่อประสมที่จัดไว้ในรูปของสื่อการสอน มีครูเป็นที่ปรึกษา ช่วยประสานงานในการจัดโปรแกรมการเรียนของผู้เรียน

1. แนวคิดในการจัดศูนย์การเรียน

แนวคิดในการจัดศูนย์การเรียนเป็นการประยุกต์ทฤษฎีทางจิตวิทยาหลายทฤษฎีเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ 4 ประการคือ การให้ผู้เรียนลงมือทำกิจกรรมด้วยตนเอง ให้ได้รับทราบผลการกระทำในทันที ให้มีโอกาสเกิดความภาคภูมิใจ และให้เรียนไปทีละน้อยตามลำดับขั้น นอกจากนั้นยังรวมเอาวิธีการของกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ การใช้สื่อประสม และคำนึงถึงความพร้อมของผู้เรียนอีกด้วย

2. ประเภทของศูนย์การเรียน

ศูนย์การเรียนมีหลายประเภท ที่พบเห็นทั่วไปได้แก่
2.1 ศูนย์การเรียนในห้องเรียน เป็นการจัดศูนย์การเรียนอย่างง่าย โดยทำเป็นศูนย์ วิชาการต่าง ๆ ไว้ตามผนังหรือมุมห้อง เช่น ศูนย์คณิตศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ ศูนย์ภาษาไทย ในแต่ละศูนย์จะมีสื่อการสอนและใบงานไว้ให้ผู้เรียนได้ศึกษาและทำกิจกรรมแล้วประเมินผล การเรียนของตนเองได้ทันที แต่ในสภาพปัจจุบันศูนย์การเรียนแบบนี้ยังเป็นเพียงมุมวิชาต่าง ๆ ที่มีเฉพาะสื่อการเรียน แต่ไม่มีโปรแกรมการเรียนสำหรับช่วยให้ผู้เรียนศึกษาด้วยตนเองได้อย่าง มีประสิทธิภาพ
2.2 ศูนย์การเรียนเอกเทศ เป็นการจัดศูนย์การเรียนที่แยกเป็นอิสระจากห้องเรียน ซึ่งนิยมจัดเป็น 3 ลักษณะ คือ ศูนย์การเรียนสำหรับครู ศูนย์วิชาการและศูนย์การเรียนชุมชน
ศูนย์การเรียนสำหรับครู เป็นห้องปฏิบัติการวิธีสอน สำหรับสถาบันฝึกหัดครูเพื่อให้นักศึกษาครูได้ทดลองใช้สื่อและวิธีการต่าง ๆ ให้เกิดความมั่นใจก่อนออกไปสอนจริง ศูนย์ การเรียนสำหรับครูแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ศูนย์การผลิต ซึ่งมีวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับปฏิบัติการผลิตสื่อการสอน กับห้องปฏิบัติการสอน สำหรับทดลองใช้วิธีสอนและสื่อที่ผลิตขึ้นมา
ศูนย์วิชาการ เป็นศูนย์การเรียนสำหรับนักเรียนที่จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนเข้าศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองในสาขาวิชาที่สนใจ โดยวิธีประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ตามโปรแกรมการสอนที่จัดไว้ในรูปของชุดการสอนรายบุคคล
ศูนย์การเรียนชุมชน เป็นสถานศึกษาระบบเปิดที่เปิดโอกาสให้บุคคล ทุกเพศทุกวัยเข้าศึกษาเรื่องที่สนใจจากโปรแกรมการสอนที่จัดไว้ในรูปของชุดการสอนรายบุคคลในศูนย์ต่าง ๆ เช่น ศูนย์งานช่าง ศูนย์เกษตร ศูนย์ดนตรี ศูนย์การเรียน ชุมชนจัดตั้งขึ้นในชุมชนเพื่อให้สมาชิกในหมู่บ้านได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้อย่างสะดวก โดยทั่ว ๆ ไปศูนย์การเรียนชุมชนจะประกอบด้วยศูนย์การเรียน 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ศูนย์เด็ก ศูนย์การศึกษาระดับมูลฐาน และศูนย์การศึกษาอาชีพ

3. การสอนแบบศูนย์การเรียน

การสอนแบบศูนย์การเรียน เป็นการจัดสภาพห้องเรียนรูปแบบใหม่ที่เน้นให้ผู้เรียนประกอบกิจกรรมในการเรียนด้วยตนเอง ตามโปรแกรมการสอนที่จัดไว้ในศูนย์กิจกรรมต่าง ๆ
วิธีการเรียนในศูนย์การเรียน ทำโดยแบ่งผู้เรียนออกเป็น 4 – 6 กลุ่ม แล้วจัดให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มเรียนจากโปรแกรมการสอนที่จัดไว้ตามโต๊ะ ซึ่งเรียกว่า ศูนย์กิจกรรม ในแต่ละศูนย์ ผู้เรียนจะต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามลำดับที่ระบุไว้ในคำสั่ง ซึ่งใช้เวลาศูนย์ละประมาณ 15 – 25 นาที เมื่อเสร็จแล้วจะมีการเปลี่ยนศูนย์กิจกรรมไปจนครบทุกศูนย์ เพื่อให้ผู้เรียนได้เนื้อหาครบถ้วน


4. ขั้นตอนการเรียนในศูนย์การเรียน

ในการสอนแบบศูนย์การเรียน ครูมีบทบาทเป็นเพียงผู้ประสานงาน ดูแล และกระตุ้น การเรียนของผู้เรียน โดยอาศัยชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรมเป็นสื่อการสอนหลัก ขั้นตอนโดยทั่วไปของการเรียนแบบศูนย์การเรียนมีลำดับดังนี้
4.1 ทดสอบก่อนเรียน เพื่อวัดความรู้เดิมของผู้เรียน โดยใช้แบบทดสอบที่มีอยู่ในชุดการสอนประมาณ 5 – 10 นาที
4.2 นำเข้าสู่บทเรียน เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียน ทั้งนี้อาจใช้วิธีบรรยายแสดงละคร เล่าเรื่อง ถามปัญหา หรือใช้สื่อการสอนต่าง ๆ พร้อมทั้งอธิบายให้ผู้เรียนทราบลักษณะของศูนย์กิจกรรมต่าง ๆ อย่างคร่าว ๆ ประมาณ 10 – 15 นาที
4.3 ดำเนินกิจกรรมการเรียนโดยแบ่งกลุ่มผู้เรียน ตกลงความรับผิดชอบแล้วให้ผู้เรียนอ่านบัตรคำสั่ง และปฏิบัติกิจกรรมตามลำดับขั้น แล้วสับเปลี่ยนกลุ่มกิจกรรมให้ครบทุกศูนย์ กิจกรรม ศูนย์ละประมาณ 15 – 20 นาที ในการเปลี่ยนศูนย์กิจกรรม ถ้าทุกกลุ่มเสร็จพร้อมกันให้ใช้วิธีหมุนเวียนจากศูนย์ที่ 1 ไปศูนย์ที่ 2, 3, 4 ตามลำดับ หรือสับเปลี่ยนกันเป็นคู่ ๆ ก็ได้ แต่ถ้ามีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสร็จก่อนเพียงกลุ่มเดียว ครูจะต้องให้กลุ่มนั้นไปทำกิจกรรมในศูนย์สำรอง ซึ่งจัดเตรียมไว้สำหรับให้ผู้เรียนที่เรียนเร็วมาประกอบกิจกรรม รอจังหวะที่ศูนย์อื่น ๆ จะว่างลง
4.4 สรุปบทเรียน เมื่อผู้เรียนทุกกลุ่มทำกิจกรรมเสร็จครูก็ช่วยสรุปบทเรียนอีกครั้งหนึ่งประมาณ 5 - 10 นาที อาจใช้วิธีบรรยายประกอบสื่อการสอน อภิปราย ซักถาม หรือวิธีอื่น ๆ ก็ได้
4.5 ประเมินผลการเรียน โดยให้ทำแบบทดสอบหลังเรียน เพื่อนำผลไปเปรียบเทียบกับการทดสอบก่อนเรียนให้ทราบถึงความก้าวหน้าของผู้เรียน และประสิทธิภาพของชุดการสอน

5. ประโยชน์ของศูนย์การเรียน

ศูนย์การเรียนมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนดังนี้
5.1 สร้างบรรยากาศในการเรียนและเพิ่มความสนใจของผู้เรียน
5.2 ส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
5.3 ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
5.4 ส่งเสริมการทำงานเป็นหมู่คณะ เคารพในความคิดเห็นของคนอื่น
5.5 ครูได้ใกล้ชิดกับนักเรียนอย่างทั่วถึง
5.6 ครูตื่นตัวตลอดเวลาทั้งในการค้นคว้าหาความรู้ หากิจกรรม และสื่อการสอน
5.7 ผู้อื่นก็สามารถสอนแทนครูได้
5.8 ห้องเรียนมีระเบียบเพราะผู้เรียนตั้งใจและสนใจทำกิจกรรม
5.9 เหมาะสำหรับการเรียนการสอนทุกระดับ โดยเฉพาะการฝึกหัดครู
5.10 ใช้สอนผู้เรียนได้เป็นจำนวนมาก ถ้ามีชุดการสอนเพียงพอ

การสอนแบบจุลภาค

การสอนแบบจุลภาค (micro teaching) คือการสอนในสถานการณ์ห้องเรียนง่าย ๆ นักเรียน 3-10 คน ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาทีต่อครั้ง เป็นการสอนที่มุ่งฝึกทักษะเฉพาะในการสอน เช่น ทักษะในการนำเข้าสู่เรื่อง ทักษะในการตั้งคำถามแบบต่าง ๆ ทักษะในการสรุป ทักษะในการวิจารณ์ ทักษะในการเสริมแรง และทักษะอื่น ๆ (ภรณี หรรษพัฒนกุล, 2529, หน้า 32) เหมาะสำหรับการสอนนักศึกษาครูเนื่องจากเป็นการสอนในสถานการณ์ของห้องเรียนจริงที่จัดให้มีลักษณะย่นย่อทั้งเวลา จำนวนนักเรียน ขนาดของงาน และทักษะการสอน เพื่อเปิดโอกาสให้ นักศึกษาครูได้ฝึกทักษะต่าง ๆ ในขณะสอนจะมีการบันทึกเทปโทรทัศน์ หรือเทปบันทึกเสียง เพื่อให้นักศึกษาครู ผู้สอนได้มีโอกาสฟังหรือเห็นตนเองได้อีก ทำให้ทราบข้อดีและข้อควรปรับปรุง เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงให้ดีก่อนที่จะนำไปสอนจริง

1. หลักการที่เกี่ยวข้องกับการสอนแบบจุลภาค

หลักการที่เกี่ยวข้องกับการสอนแบบจุลภาคมีดังนี้
1.1 การเสริมแรง (reinforcement) เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ การที่ผู้เรียนได้เห็นพฤติกรรมของตัวเองจากเทปโทรทัศน์จะเป็นการเสริมแรงอีกทางหนึ่ง และจะช่วยให้ผู้สอนมีกำลังใจและมั่นใจในการสอนมากยิ่งขึ้น
1.2 การรับรู้ผลย้อนกลับ (feed back) ในการสอนแบบจุลภาค ผู้สอนจะได้รับทราบผลการสอนของเขาเองจากหลาย ๆ ทาง เช่น จากผู้เรียน เพื่อน อาจารย์นิเทศก์ และได้เห็นตัวเอง จากเทปโทรทัศน์สามารถปรับปรุงตนเองในครั้งต่อไปได้ง่ายขึ้น
1.3 การฝึกซ้ำหลาย ๆ ครั้ง (law of exercise) เป็นสิ่งจำเป็นในการสอนแบบจุลภาคเพราะจะทำให้ผู้สอนเกิดความชำนาญและสามารถนำไปใช้จริง ๆ ได้ง่าย
1.4 การถ่ายโยงการเรียนรู้ (transfer of learning) เนื่องจากการสอนแบบจุลภาคเป็นการสอนที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงแต่ย่อส่วนมาจึงทำให้ผู้ฝึกสอนได้เห็นขั้นตอนและ ขบวน การทั้งยังทำให้มีความชำนาญพอที่จะนำไปใช้ในการสอนจริงได้

2. ขั้นตอนของการสอนแบบจุลภาค

การสอนแบบจุลภาคให้ได้ผลดีควรมีขั้นตอนดังนี้
2.1 ขั้นศึกษาทักษะที่ต้องการฝึก เป็นขั้นที่ผู้เรียนเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะที่ต้องการฝึกจากการอ่านตำรา และดูจากแบบจำลองทักษะ ซึ่งอาจใช้วิธีสาธิต ดูภาพยนตร์ หรือเทปบันทึกภาพก็ได้ แบบจำลองทักษะจะเน้นให้เห็นวิธีการในการฝึกทักษะใดทักษะหนึ่งโดยเฉพาะ
2.2 ขั้นเลือกเนื้อหาและวางแผนการสอน เมื่อผู้เรียนได้เห็นตัวอย่างจากแบบจำลองการฝึกแล้วก็จะเลือกเนื้อหาหรือทักษะที่จะฝึกสอนแบบจุลภาคแล้ววางแผนการสอน โดยเตรียมทำบันทึกการสอนเช่นเดียวกับการสอนตามปกติ กำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม วิเคราะห์ กิจกรรมและหาวิธีดำเนินการสอนให้บรรลุเป้าหมาย
2.3 ขั้นสอน ผู้สอนจะสอนพร้อมกับมีการบันทึกเทปโทรทัศน์ ในขณะเดียวกันก็จะมีอาจารย์นิเทศก์กับเพื่อน ๆ เป็นผู้สังเกตอยู่ด้วย
2.4 ขั้นวิเคราะห์ผลการสอน เป็นการให้ผู้สอนได้รับทราบผลการสอน โดยดูเทปโทรทัศน์หรือฟังเสียงจากเทปบันทึกเสียงเพื่อรับรู้พฤติกรรมของตนเองหรืออาจได้จากความคิดเห็นของผู้เรียน และอาจารย์นิเทศก์
2.5 ขั้นตัดสินใจ เป็นขั้นที่อาจารย์นิเทศก์และผู้สอนตัดสินใจร่วมกันว่าผลการกระทำน่าพอใจหรือไม่ ถ้าพอใจก็เป็นการจบกระบวนการฝึกทักษะนั้น ๆ แล้ว ถ้าไม่พอใจก็จะได้พิจารณาว่าควรปรับปรุงอะไรบ้าง เพื่อเตรียมการสอนใหม่
2.6 ขั้นจบกระบวนการสอนหรือวางแผนเตรียมการสอนเพื่อทดลองสอนกับ นักเรียนกลุ่มอื่น ถ้าขั้นตัดสินใจผ่านก็เป็นการจบกระบวนการสอน ถ้าไม่ผ่านต้องวางแผนการสอนและเตรียมการสอนใหม่ในเนื้อหาและทักษะเดิมเพื่อทดลองสอนกับนักเรียนกลุ่มอื่นอีกครั้ง
3. ทักษะการสอนแบบจุลภาค

ทักษะการสอนที่นำมาใช้ในการฝึกสอนแบบจุลภาค เป็นทักษะที่มุ่งพัฒนาประสิทธิ ภาพในการสอนของครู ทั้งในลักษณะที่ยึดครูเป็นศูนย์กลาง และนักเรียนเป็นศูนย์กลาง
3.1 ทักษะสำหรับครูเป็นศูนย์กลาง ได้แก่
3.1.1 ทักษะการนำเข้าสู่บทเรียน
3.1.2 ทักษะการใช้สื่อการสอน
3.1.3 ทักษะการใช้คำถาม
3.1.4 ทักษะการอธิบาย
3.1.5 ทักษะการเล่าเรื่อง
3.1.6 ทักษะการยกตัวอย่าง
3.1.7 ทักษะการใช้กระดาษชอล์ค
3.1.8 ทักษะการเร้าความสนใจ
3.1.9 ทักษะการเสริมกำลังใจ
3.1.10 ทักษะการสรุปบทเรียน
2 ทักษะสำหรับผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ได้แก่
3.2.1 ทักษะการสอนแบบศูนย์การเรียน
3.2.2 ทักษะการสอนให้ผู้เรียนทำงานตามลำพัง

4. ข้อดีและข้อจำกัดของการสอนแบบจุลภาค

4.1 ข้อดีของการสอนแบบจุลภาคได้แก่
4.1.1 ใช้ในการทดลองสอนและปรับปรุงวิธีการสอน
4.1.2 ใช้ทดลองสอนเพื่อปรับปรุงเนื้อหาในหลักสูตร
4.1.3 ใช้ฝึกทักษะและสมรรถภาพในการสอนให้กับครูและนักเรียนฝึกหัดครู
4.1.4 ช่วยให้อาจารย์นิเทศก์ปรับปรุงวิธีสอนของตน
4.1.5 เปิดโอกาสให้ผู้สอนได้ทดลองสอนจนพอใจ
4.1.6 ลดความยุ่งยากสับสนและความกังวลของผู้สอนในชั้นเรียนจริง เพราะ การสอนแบบจุลภาคเป็นกิจกรรมที่ย่นย่อทั้งขนาด เนื้อหา และเวลา
4.2 ข้อจำกัดของการสอนแบบจุลภาคได้แก่
4.2.1 ผู้ฝึกไม่ได้พบกับสภาพห้องเรียนจริง ซึ่งอาจทำให้สอนได้ไม่เต็มที่ ถ้าเขา ไม่มีความสามารถในการถ่ายโยงการเรียนรู้ได้
4.2.2 การสอนแบบจุลภาคใช้ประกอบการฝึกสอน แต่ไม่ใช่แทนการฝึกสอน เพราะการสอนแบบจุลภาคเน้นการฝึกทักษะเฉพาะอย่าง ให้เกิดความชำนาญก่อนออกฝึกสอนจริง

การสอนเป็นคณะ

การสอนเป็นคณะ (team teaching) เป็นวิธีดำเนินการสอนแบบที่เน้นการใช้บุคลากรให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยจัดให้ครูตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันวางแผน จัดกิจกรรมการสอน ประเมินผล และร่วมกันรับผิดชอบในการสอนเด็กกลุ่มเดียวกันในเนื้อหาวิชาตอนใดตอนหนึ่งหรือทุกตอนก็ได้ ทั้งนี้ขนาดกลุ่มของนักเรียนและเวลาเรียนอาจยืดหยุ่นได้ตามวิธีการสอนของครู

1. วัตถุประสงค์ของการสอนเป็นคณะ

การสอนเป็นคณะใช้ได้ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนดังนี้
1.1 ปรับปรุงประสิทธิภาพของการสอน ให้นักเรียนมีโอกาสได้รับความรู้ความคิด เห็นและประสบการณ์จากครูหลายคน ไม่ต้องซ้ำซากจำเจอยู่กับครูคนเดียว
1.2 ส่งเสริมการดำเนินชีวิตแบบประชาธิปไตย ให้นักเรียนร่วมมือกันในการทำงาน ด้วยตัวเอง เน้นความสำคัญที่ผู้เรียน โดยครูทุกคนร่วมกันวางแผน สอน และประเมินผล
1.3 มีเวลาให้ผู้เรียนมาก โดยใช้เวลาทั้งหมดของครูให้ผูกพันกับการสอนและ การจัดประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน และจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการสอนอย่างพร้อมมูล
1.4 แก้ปัญหาจำนวนนักเรียนในห้องเรียน เช่น ใช้วิธีแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้นักเรียนได้รับการดูแลจากครูผู้สอนอย่างทั่วถึง
1.5 ส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะและแนวคิดที่หลากหลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ และความรับผิดชอบ
1.6 แก้ปัญหาความไม่ยุติธรรม โดยเฉพาะในการจัดชั่วโมงสอนของครู

2. รูปแบบของการสอนเป็นคณะ

การสอนเป็นคณะเป็นการสอนที่ใช้กับนักเรียนตั้งแต่ 40 – 300 คน โดยใช้ครู 5 – 7 คนทำการสอนโดยจัดรูปแบบต่าง ๆ กัน คือ
2.1 แบบมีผู้นำคณะ (team leader type) ในคณะของผู้สอนจะมีการเลือกคนใดคน หนึ่งขึ้นเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ประสานงาน และวางแผนในการดำเนินการสอน
2.2 แบบไม่มีผู้นำคณะ (associate type) ครูทุกคนเป็นผู้ร่วมงานมีฐานะเท่ากัน แบ่งสรรความรับผิดชอบในการดำเนินการ โดยถือเอาตามความถนัดและความสามารถของแต่ละบุคคล
2.3 แบบครูพี่เลี้ยง (master teacher-beginning teachers types) มีคณะครูเก่ากับครูใหม่ทำงานร่วมกัน โดยครูเก่าที่มีประสบการณ์จะทำหน้าที่คล้ายครูพี่เลี้ยง ในการดำเนินการสอนให้เป็นตัวอย่างแก่ครูใหม่

3. วิธีดำเนินการสอน

การดำเนินการสอนแบบเป็นคณะ อาจจัดนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ขนาดต่าง ๆ กันตามความเหมาะสม เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นที่น่าสนใจคือ
3.1 การสอนเป็นกลุ่มใหญ่ มีนักเรียนประมาณ 50 – 200 คน เป็นการสอนเพื่อให้เกิด
3.2 ความคิดรวบยอด และความเข้าใจแก่นักเรียนพร้อม ๆ กัน อาจใช้สื่อการสอนประเภทสไลด์
3.3 การสอนเป็นกลุ่มเล็ก แบ่งกลุ่มโดยยึดความสามารถของนักเรียนเป็นเกณฑ์ ให้มีกลุ่มละไม่เกิน 15 คน และมีการสับเปลี่ยนกลุ่มอยู่เสมอ ๆ เพื่อให้นักเรียนมีความรับผิดชอบ ในการอภิปรายและแสดงบทบาทในการแก้ปัญหา
3.4 การค้นคว้าด้วยตนเอง เป็นกิจกรรมที่จัดเพื่อให้เกิดความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์การสอนเป็นคณะ จะสามารถดำเนินการสอนได้ผลเต็มที่ได้เมื่อมีการจัดแบ่งกลุ่มทั้งสามแบบสลับกันตามความเหมาะสม

4. ข้อดีและข้อจำกัดของการสอนเป็นคณะ

การสอนแบบเป็นคณะมีข้อดีและข้อจำกัดดังนี้
4.1 ข้อดีของการสอนเป็นคณะ ได้แก่
4.1.1 ครูมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านวิชาการซึ่งกันและกันมากขึ้น
4.1.2 ครูใช้ความถนัดและความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่
4.1.3 เป็นการสนับสนุนให้มีการใช้สื่อเรียนการสอนมากขึ้น
4.1.4 ครูใหม่มีโอกาสได้ฝึกงานให้เกิดความชำนาญ
4.1.5 ความต่อเนื่องของการเรียนการสอนมีมากขึ้น
4.1.6 ลดความซ้ำซาก จำเจ ที่ผู้เรียนต้องเรียนกับครูคนเดียว
4.1.7 นักเรียนได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า ในการฝึกฝนให้รู้จักรับผิดชอบ คือมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับบุคคลอื่นซึ่งอาจเป็นกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก สามารถเลือกทำกิจกรรมตามความสนใจและความถนัดของตนเองได้
4.2 ข้อจำกัดของการสอนเป็นคณะได้แก่
4.2.1 ต้องเสียเวลาในการเตรียมงานมาก
4.2.2 จากการวิจัยพบว่าการสอนจะได้ผลดีที่สุด เมื่อได้ทำการสอนในห้องที่จัด เตรียมไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
4.2.3 ความสำเร็จขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบ และความร่วมมือของครู
4.2.4 เครื่องอำนวยความสะดวกในห้องเรียนต้องมีมากพอ แม้จะใช้กับนักเรียนกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก และรายบุคคลก็ตาม
4.2.5 มีปัญหาในเรื่องการจัดตารางสอนให้ครูผู้สอนได้มีเวลาวางแผนร่วมกัน
4.2.6 การเลือกผู้นำกลุ่มในการอภิปรายจะต้องคำนึงถึงความสามารถต่าง ๆ ด้วย เพราะผู้นำที่ดีจะต้องสามารถใช้คำถามกระตุ้นให้สมาชิกในกลุ่มแสดงความคิดเห็น ทั้งต้องมีความรู้ดี ใจกว้าง และมีความยุติธรรมด้วย

การสอนทางไกล

การสอนทางไกล (distance education) หรือการศึกษาทางไกล หมายถึง ระบบการศึกษาที่ผู้เรียนและผู้สอนอยู่ไกลกันแต่สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้โดยอาศัยสื่อการสอนในลักษณะของสื่อประสม โดยการใช้สื่อต่าง ๆ ร่วมกัน อาทิเช่น ตำราเรียน เทปบันทึกเสียง หรือโดยการใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมและสื่อมวลชน ประเภทวิทยุ และโทรทัศน์ เข้ามาช่วยในการแพร่กระจายการศึกษาไปยังผู้ที่ปรารถนาจะเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางทั่วทุกท้องถิ่น การศึกษานี้มีทั้งในระดับต้นจนถึงระดับสูงขั้นปริญญา (Page and Thomas, 1997, p. 105 อ้างถึงในกิดานันท์, 2536, หน้า 125)
การสอนแบบทางไกล เป็นระบบการเรียนการสอนที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างเข้ามาสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่น โทรทัศน์ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบดาวเทียม สื่อสิ่งพิมพ์และเอกสารต่าง ๆ รวมถึงกระบวนการขั้นตอนในการปฏิบัติตามแผนการสอนที่มี การออกแบบการสอน (instructional design) ไว้เป็นอย่างดีแล้ว ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการจัดการเรียนการสอนทางไกลมาตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1850 จนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น 4 ยุค

ที่มา ( National Center For Education Statistics, “Distance Education at Postsecondary Education Institutions: 1997-98, December 1999. อ้างถึงใน ชุณหพงศ์ ไทยอุปถัมภ์, 2545 หน้า 26 – 27)
ปัจจุบัน การศึกษาผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นการสอนทางไกลชนิดหนึ่ง กำลังเป็นที่นิยมศูนย์การศึกษาทางไกลของสหรัฐอเมริกา (American Center for the Study of Distance Education : ACSDE) ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพ็นซิลวาเนีย (Pennsylvania State University) ได้อธิบายความหมายของการศึกษาผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือ Web-Based Education ไว้ว่า “เป็น รูปแบบการเรียนการสอนแบบทางไกลชนิดหนึ่ง ซึ่งการนำเสนอเนื้อหาและการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน เกิดจากการประยุกต์ใช้อินเตอร์เน็ตเทคโนโลยี”
เมื่อเปรียบเทียบกับการเรียนการสอนทางไกลชนิดอื่นแล้ว รูปแบบของการเรียนการสอนชนิดนี้มีการผสมผสานสื่อหลากหลายชนิดเข้าด้วยกัน เช่น ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพยนตร์ เสียง ฯลฯ อีกทั้งยังเอื้ออำนวยให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ทั้งที่ในเวลาจริง หรือต่างเวลากัน การเรียนการสอนชนิดนี้ทำให้ต้องมีการประสานกัน (collaborative environment) ทั้งผู้เรียนและผู้สอนสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลชนิดหลายสื่อทางไกลได้
ในบางขณะผู้เรียนอาจต้องการเข้าถึงแหล่งข้อมูล เพื่อเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนสามารถควบคุมจังหวะการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (self-paced learning) ทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ยืดหยุ่นแก่ผู้เรียน
นอกจากนี้การเรียนการสอนชนิดนี้ยังช่วยกำจัดข้อจำกัดด้านเวลา และระยะทางแก่ผู้เรียน นั่นหมายถึงผู้เรียนสามารถเข้ามาเรียนรู้เนื้อหาวิชาได้ จากที่ใดก็ได้ในเวลาใดก็ได้

บทสรุป

การนำนวัตกรรมทางการศึกษามาใช้เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยวิธีแปลกใหม่แตกต่างไปจากเดิม ผู้เรียนสามารถเลือกวิธีเรียน เวลาเรียน สถานที่เรียน และประเมินผลได้ด้วยตนเอง นวัตกรรมที่นำมาใช้ทางการศึกษามีหลายชนิด เช่น บทเรียนโปรแกรม ชุดการสอน ศูนย์การเรียน การสอนแบบจุลภาค การสอนเป็นคณะ การสอนทางไกล ฯลฯ เป็นต้น
บทเรียนโปรแกรมมีพื้นฐานมาจากทฤษฎีการวางเงื่อนไข มีแบบเส้นตรงและแบบสาขา ชุดการสอนเป็นชุดของสื่อหลาย ๆ ชนิดมีแบบประกอบคำบรรยาย แบบศูนย์การเรียนและแบบรายบุคคล ศูนย์การเรียนเป็นการจัดสภาพห้องเรียนที่เน้นให้ผู้เรียนทำกิจกรรมการเรียนได้ด้วยตนเอง การสอนแบบจุลภาคเป็นการสอนแบบย่นย่อในสถานการณ์ของห้องเรียนจริง เหมาะสำหรับนักศึกษาครู การสอนเป็นคณะเป็นสอนร่วมกันตั้งแต่การวางแผนจนถึงการประเมินผล มีแบบมี ผู้นำคณะ แบบไม่มีผู้นำคณะ และแบบครูพี่เลี้ยง การสอนทางไกลเป็นระบบการเรียนการสอน ที่ผู้เรียนกับผู้สอนไม่ได้อยู่สถานที่เดียวกัน
นวัตกรรมแต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะและคุณสมบัติที่เป็นข้อดีและข้อจำกัด ผู้ใช้นวัตกรรมทางการศึกษา จึงควรศึกษารายละเอียด ให้เข้าใจก่อนนำไปใช้

คำถามทบทวน

1. บทเรียนโปรแกรมคืออะไร มีคุณค่าอย่างไร
2. บทเรียนโปรแกรมแต่ละชนิดมีข้อดีและข้อจำกัดอย่างไร
3. ชุดการสอนคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร
4. การสร้างชุดการสอนได้แนวคิดทางจิตวิทยามาจากทฤษฎีใด
5. องค์ประกอบของชุดการสอนได้แก่อะไร
6. ศูนย์การเรียนมีลักษณะอย่างไร
7. การสอนแบบจุลภาคมีความหมาย หลักการและขั้นตอนอย่างไร
8. การสอนแบบจุลภาคมีประโยชน์และข้อจำกัดอย่างไร
9. การสอนเป็นคณะมีจุดมุ่งหมายและรูปแบบอย่างไร
10. การสอนทางไกลหมายถึงอะไร มีลักษณะอย่างไรมีข้อดีและข้อจำกัดอย่างไร

ที่มา : ผศ.วิวรรรธน์ จันทร์เทพย์